วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

การปฏิบัติตนเพื่อหนีบาป

จาก หนังสือ แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อไปนี้อาตมาจะขอปรารภ เรื่อง การปฏิบัติตนหนีบาป คำว่า "บาป" นี้บรรดาท่านพุทธบริษัท แปลว่า "การกระทำความชั่ว" ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยืนยันว่า บุคคลใดถ้าตกเป็นทาสของความชั่วคือ บาป เวลาก่อนจะตายถ้ากำลังจิตเศร้าหมองมีกำลังใจกังวลอยู่กับบาป ตายแล้วก็ต้องตกนรก ความจริงที่บางท่านคิดว่า การตายแล้วไม่เกิด คือว่าตายแล้วมีสภาพสูญ อย่างไรก็ตามเถอะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า คนเราตายแล้วต้องมีการเกิด แต่การเกิดนั้นจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเกิดทั้งหมด ถ้าส่วนดีก็ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้าดีถึงที่สุดก็ไปเกิดเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไป

เป็นอันว่าอาตมาเองก็ขอยืนยันตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การตายแล้วเกิดนั้นมีจริง ซึ่งบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง ส่วนใหญ่เวลานี้ก็ปฏิบัติในหลักสูตรของวิชชาสามบ้าง ในหลักสูตรของอภิญญาหกบ้าง สามารถระลึกชาติได้ว่าก่อนจะเกิดเราเคยเป็นอะไรมาบ้าง ตายเป็นอะไรมาบ้าง อย่างนี้ทราบกันอยู่แล้วก็เป็นอันว่ายืนยันตามคำสั่งขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้ว่าการตายแล้วต้องเกิดจริง การที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของบุญและบาป การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็นำมาทั้งเศษบุญและเศษบาป

เศษบุญ เป็นปัจจัยให้ทุกคนมีความสุขตามสมควรกับบุญนั้น

เศษบาป เข้ามาครอบงำจิตเมื่อไหร่ ทุกคนที่ได้รับผลนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ ความเร่าร้อน

ถ้าหากว่าเราคิดว่าตายแล้วไม่เกิด จิตจะมีความประมาทพลาดจากความเป็นจริง ถ้าคิดอย่างนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง ก็จะมีความประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมาแล้วตายก็สูญ เมื่อมันจะสูญไปจากโลกนี้ไม่มีการเกิดต่อไป การกระทำความดีหรือการกระทำความชั่วใด ๆ ย่อมมีผลเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่านั้น เพราะชาติข้างหน้าไม่มี ถ้าคนที่มีกำลังใจดีก็จะสั่งสมความดี เพื่อความสุขของตน คนที่มีจิตหยาบบาปอกุศลก็ครอบงำ ก็จะทำแต่ความชั่ว สร้างความเร่าร้อนให้แก่ตัวและบุคคลอื่น ถ้าตายแล้ว บังเอิญที่ต้องเกิดจริง ๆ ความจริงอาตมาใช้คำว่าบังเอิญเฉพาะบุคคลที่คิดว่าตายแล้วสูญ สำหรับอาตมาเองจริง ๆ ขอยืนยันว่าตายแล้วเกิดแน่ การระลึกชาติเราสอนกันได้แล้วมีญาติโยมพุทธบริษัททำได้นับแสน ถ้าเราไม่มีการเกิดเราจะรู้ชาติที่แล้วมาได้อย่างไร

ก็รวมความว่า ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการเกิดต่อไปมีจริง ๆ ใครท่านจะว่าไม่มีก็ช่างท่านเถอะ เรื่องความเห็นนี่อย่าไปถือเป็นเรื่องความผิดเรื่องถูก ของใครก็ของมันอาตมาบวชมาตามหลักสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งบรรดาพระทั้งหลายยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกก็มีผลตามนั้นจึงหมดสงสัย

ในเมื่อเรามาพูดกันถึงเรื่องเกิดพอสมควร เพราะว่าเกิดแล้วตายแล้วจะต้องไปนรกบ้าง ไปสวรรค์บ้าง คือไปสู่แดนของความสุขบ้าง แดนของความทุกข์บ้าง ทุกคนก็ไม่มีใครอยากพบกับแดนของความทุกข์ ต้องการอย่างเดียวคือ ต้องการพบกับแดนของความสุข

เราจะทำอย่างไรกัน?

ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ที่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ฟังคำแนะนำ
ของพระพุทธเจ้าสักหน่อยหนึ่ง แล้วลองไปปฏิบัติตาม ถ้าทุกท่านที่ฟังแล้วนำไปปฏิบัติได้จริง อาตมาก็ขอยืนยันว่าการเกิดต่อไปข้างหน้าของท่าน ที่มีกี่ครั้งก็ตามกี่ชาติก็ตาม ของยืนยันว่าทุกท่านจะไม่พบกับอบายภูมิทั้ง ๔ คือการเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี เป็นเดรัจฉานก็ดี จะไม่มีแก่ท่านทุกชาติที่เกิดอีกต่อไป และการเกิดของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ก็จะจำกัดการเกิด เอาเฉพาะการปฏิบัติอย่างหยาบๆ ท่านทั้งหลายถ้าจะมีการเกิดจริง ถ้ากำลังใจของท่านย่อหย่อนปฏิบัติได้แต่ว่าไม่เคร่งเครียดนัก คือ ปฏิบัติได้ไม่ละเอียดนัก พอทำกันได้ เรียกว่าประเภท "เช้าชามเย็นชาม" แต่ก็สามารถทรงความดีไว้ได้ อย่างนี้ถ้าหากว่าท่านจะเกิดใหม่ก็เกิดเป็นเทวดาหรือพรหม 7 ชาติตามหลักวิชา หลังจากนั้นก็เป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน

ถ้ามีกำลังใจเข้มแข็งทำได้แบบละเอียดจริงๆ อารมณ์สุขุมทรงตัวได้อย่างดี ถ้ากำลังใจประเภทนี้เราทำได้จะเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมอีกชาติเดียวเท่านั้น กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ เป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน

หลักสูตรนี้มีในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกคนให้ตัดสังโยชน์ สังโยชน์นี่ถ้าตัดได้ ๓ จะเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี เพียงแต่เป็นพระโสดาบันอย่างหยาบที่เรียกว่า สัตตักขัตตุง ต้องเกิดอีก ๗ ชาติ เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัทอบายภูมิทั้ง ๔ จะเข้าไม่ถึงและก็ไม่พบหน้ากันแล้วก็ขอลาอบายภูมิได้
สังโยชน์ ทั้ง ๑๐ ประการนี้มีอะไรบ้าง?
   

๑. สักกายทิฏฐิ
   

๒. วิจิกิจฉา
   

๓. สีลัพพตปรากมาส

สามข้อนี้อาตมาจะสอนญาติโยมพุทธบริษัทปฏิบัติกัน ถ้าตัด ๓ ข้อนี้ได้ อย่างหยาบก็สามารถหลีกนรกได้แน่นอน ไม่พบหน้ากันอีกแล้ว

ข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า สักกายทิฏิฐิ ซึ่งมีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา หรือเรามีในร่างกาย ร่ายกายมีในเรา อย่างนี้เป็นต้น หรือว่ามีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มีสภาพไม่ตาย มันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ไม่เสื่อมไม่ตายไปจากโลกนี้หรือว่ามีความเห็นว่าร่างกายนี้นอกจากจะไม่ตายแล้ว มันก็มีแต่ความสะอาด เรียกว่า มีความสะอาดน่ารัก น่าชม นานิยมทุกอย่าง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของโสโครก แล้วก็มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

ความรู้สึกในสักกายทิฏฐิ อาตมาตั้งไว้ ๓ ระดับก็เพราะอารมณ์อย่างนี้มีความรู้สึกไม่เสมอกัน
          ถ้าอารมณ์ขั้นพระโสดาบันหรือสกิทาคามี จะมีความรู้สึกเป็นแต่เพียงว่าร่างกายนี้ต้องตาย
          ถ้าอารมณ์ของพระอนาคามี จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้นอกจากจะตายแล้ว มีสภาพเสื่อม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และสลายตัวไปในที่สุด ร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี วัตถุธาตุใดๆ ก็ดี ไม่มีคำว่าสะอาด มีแต่คำว่าสกปรก น่าเกลียด น่าชังอย่างยิ่ง มีความรังเกียจในการที่จะมีร่างกายต่อไปอีก อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี

ถ้าเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

ฉะนั้นจึงขอชวนบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติแค่เบื้องต้น ยึดอารมณ์ของพระโสดาบันเข้าไว้ เราจะเป็นพระโสดาบันหรือสกิทาคามีหรือไม่นั้นไม่สำคัญ อย่าคำนึงถึงว่าเราจะต้องเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นสกิทาคามีบ้าง ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นความประมาทจะเกิดแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทคิดว่า " เราดีแล้ว" ถ้าบังเอิญเราไม่ได้เป็นจริงๆ ถ้าพลาดพลั้งตายไปอาจจะไปอบายภูมิได้

ฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ ให้ต้องการแต่ผล อย่าคิดว่าตนเป็นอย่างนั้น คิดว่าตนเป็นอย่างนี้ จะกลายเป็นคนมีมานะทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลสหยาบทำปัญญาให้ถอยหลัง

รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการก็คือ

๑. สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันจะไม่ตาย ร่างกายสะอาด ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา

๒. วิจิกิจฉา มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ ไม่ตกลงว่าจะยอมรับนับถือหรือไม่

๓. สีลัพพตปรามาส ไม่ตั้งใจรักษาศีลอย่างจริงจัง รักษาศีลประเภทศีลหัวเฒ่าคือผลุบเข้าผลุบออก ประเดี๋ยวก็ทรงตัวบ้าง ประเดี๋ยวก็ไม่ทรงตัวบ้าง

สังโยชน์ข้อที่ ๔ กามฉันทะ มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ นี่เรียกว่าติดหลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในกามารมณ์

สังโยชน์ข้อที่ ๕ ปฏิฆะ มีอารมณ์ข้องใจไม่พอใจ คือ มีความโกรธ มีความไม่พอใจอยู่เป็นปกติยังเหลืออยู่

สังโยชน์ข้อที่ ๖ รูปราคะ มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปที่เป็นวัตถุ หรือรูปฌาน

สังโยชน์ข้อที่ ๗ สงสัยใฝ่ฝันในอรูป หรือสิ่งที่ไม่มีรูป หรือ อรูปฌาน ว่าดีเลิศประเสริฐแล้ว

สังโยชน์ข้อที่ ๘ มานะ ยังมีการถือตัวถือตน ว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา

สังโยชน์ข้อที่ ๙ อุทธัจจะ ยังมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ไม่มั่นใจในตัวเองว่าเราจะไปนิพพานดีหรือไม่ไปนิพพานดี ไปได้แน่หรือไปไม่ได้แน่ เอาแน่นอนไม่ได้ คือ จิตใจขาดความเข้มแข็ง

สังโยชน์ข้อที่ ๑๐ อวิชชา อวิชชานี้ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก ยังเห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลกเป็นของดี ต้องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการนี้ เป็นเครื่องดึงเราให้เวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วเกิดใหม่ เกิดแล้วตาย ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ตายเป็นมนุษย์ ตายจากมนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้น ตายจากมนุษย์แล้วอาจจะเป็นสัตว์นรกก็ได้ เปรตก็ได้ อสุรกายก็ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นเทวดาหรือพรหมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ สุดแล้วแต่ความดีหรือความชั่ว

ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัท หรือบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรสามารถตัดสังโยชน์ได้ถึง ๑๐ ประการ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "พระอรหันต์" เป็นผู้ตัดกิเลสเป็น "สมุจเฉทปหาน" ก็รวมความว่าเราจะไม่พบกับคำว่าการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือพรหมไม่มีอีกแล้ว ไปอยู่นิพพานแห่งเดียวมีแต่ความสุขสำราญ ไม่มีความทุกข์เป็นที่ไป

ก็รวมความว่าวันนี้หรือวันต่อไป ก็ยังไม่ชวนบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและเพื่อนภิกษุสามเณร เป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่ชวนทุกท่านเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี จะชวนเพียงว่า เรามาเอากันอย่างนี้ดีกว่า ในเมื่อพระโสดาบัน ก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี ท่านสามารถหลีกนรกได้เด็ดขาด ถึงอย่างไรก็ตามท่านไม่มีโอกาสลงนรกได้อีก นรกก็ไม่เกิด เป็นเปรตก็ไม่เกิด อสุรกายก็ไม่เกิด เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่เกิด จะมีแดนที่ไปที่มาระหว่างมนุษยโลกกับเทวโลกเท่านั้น เป็นอันว่า "ตัดอบายภูมิได้เด็ดขาด" เราต้องการกันแค่นี้ก่อน

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี เพื่อนภิกษุสามเณรก็ดี อาตมาเองก็ตาม สำหรับอาตมาจริง ๆ มีความรู้สึกว่าเวลานี้เป็นเด็กอ่อน ยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ ยังไม่กล้าต่อสู้อารมณ์ที่เข้ไปถึงความเป็นพระอรหันต์ เราเป็นเด็กเล็กมีกำลังน้อย ๆ ยกของ เบา ๆ ก่อน

อันดับแรก ลองยกสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการออกจากใจ ก็คิดว่ายังไง ๆ เราก็ไม่ไปนรกกันก่อน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานกันก่อนดีกว่า เอายังไงก็ดี ตั้งต้นกันจุดนี้เถอะบรรดาท่านพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติพระกรรมฐาน การปฏิบัติกระกรรมฐานในหลักสูตรของวิชชาสามก็ดี อภิญญาก็ดี ปฏิสัมภิทาญาณก็ดี หากว่าท่านได้ ๒ ในวิชชาสาม, ๕ ในอภิญญาหก หรือสมาบัติ ๘ แต่ว่าท่านไม่สามารถจะตัดสังโยชน์ ๓ ประการให้พ้นจากใจได้ ท่านก็ยังเป็นเหยื่อของอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น เราก็มาลองดูมันยากนักไหม ยากหรือไม่ก็ลองพิจารณากันดู

๑. สักกายทิฎฐิ เอาตัวนี้เข้ามาตั้งต้นก่อน อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบันกับสกิทาคามิ ท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตายและบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรก็ดีญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี มีความรู้สึกเหมือนพระโสดาบัน สกิทาคามีไหม ท่านมีความรู้สึกตัวท่านเอง ท่านจะตายไหม แต่ก็บางทีหลาย ๆ ท่านอาจจะลืม คิดว่าเราจะต้องตายเป็นปี ๆ ก็ได้ บางทีเกิดมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ลืมนึกถึงว่าชีวิตมันจะต้องตายอันนี้เป็นของธรรมดาของพวกเรา ญาติโยมก็เหมือนกัน เพื่อนภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน อาตมาก็เช่นเดียวกน เราก็ขี้หลงขี้ลืมเหมือนกัน

ต่อแต่นี้ไปเรามาตั้งต้นกันใหม่ดีไหม ว่าต่อแต่นี้ก่อนจะหลับเราจะคิดไว้ว่าหลับคราวนี้จะได้ตื่นเห็นพระอาทิตย์วันใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบ เราอาจจะต้องตายระหว่างการหลับหรือก่อนสว่างก็ได้พอสว่างแล้วตื่นขึ้นมา ก็มีความรู้สึกว่าเราจะได้เห็นกลางคืนของวันนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะชีวิตในช่วง ๑๒ ช่วงโมง ของกลางวันเราอาจจะตายก่อนก็ได้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง" เรื่องความตายนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทจงอย่าคิดว่าคนคิดถึงเรื่องความตายนี้ ต้องงอมืองอเท้าไม่ทำมาหากิน ไม่สั่งสมความดี อันนั้นผิด องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรทรงแนะนำว่าคนที่นึกถึงความตายนี่ เขาเป็นคนแกล้วกล้า ประกอบกิจการงานทุกอย่างตามหน้าที่ครบถ้วน เพราะไม่แน่ใจว่าจะตายเมื่อไร

สมมุติว่า ท่านมีสามีหรือภรรยา และมีบุตร ธิดาอยู่ด้วยมีคนที่ต้องอุปถัมภ์ ถ้าเราประมาทในชีวิต คิดว่าแก่สัก ๖๐ ปีหรือ ๗๐ ปี ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐-๒๐๐ ปี จะต้องตายเราก็ไม่สั่งสมทรัพย์สินไว้เพื่อลูกเพื่อหลาน ยังคิดว่าอีกนานเราจะตายไม่เป็นไร ระหว่างนี้ทำกินพอกินไปวัน ๆ หนึ่งก็ได้ ถ้าเผอิญมันปุ๊บปั๊บตายไปก่อนล่ะ ลูกหลานไม่ลำบากหรือ เราเองก็ลำบาก เพราะเรามีทรัพย์น้อย พอจะตายขึ้นมาจริง ๆ จิตก็มีความกังวลถึงลูกถึงหลาน ตัวจิตกังวลนี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท จะทำให้เราต้องลงอบายภูมิ

หากว่าเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ เราก็หาทางรวบรัดสิ่งใดที่จะสร้างทรัพย์สมบัติให้เกิดขึ้น สำหรับทำทุนทำรอนไว้เพื่อเราในยามป่วยหรือยามแก่ ถึงเวลาที่มันตายไปแล้วลูกหลานไม่ลำบากในการจัดการศพ หรือการเป็นอยู่ในเบื้องหน้าเราก็หาทรัพย์สมบัติมาตามกำลังที่จะพึงหาได้ หาจนเต็มความสามารถด้วยความไม่ประมาทในชีวิต อย่างนี้ถ้าบังเอิญมันยังไม่ตาย ทรัพย์สินที่เราหาได้ก็จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน ในเมื่อเราคิดว่าเราจะตายแล้ว รู้ว่าตายแล้วถ้าทำความชั่ว จิตชั่วเราต้องไปอบายภูมิ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นต้น เราก็จะละจากความชั่วนั้น ตั้งหน้าตั้งทำดี พูดดี คิดดี คนที่ทำดีพูดดีและคิดดี คนประเภทนี้เป็นที่รักของทุกคนในโลก ไม่มีคนเลวที่ไหนที่เห็นว่าคนพูดดี ทำดี คิดดี เป็นคนที่น่าเกลียด ที่ต้องการประกาศเป็นศัตรู ถ้าคนที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บรรดาท่านพุทธบริษัทใครเขาก็รักทุกคนที่ทำดี พูดดี และคนคิดดี เพราะการทำดีเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้มีความทุกข์ คนก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีความทุกข์ เพราะการกระทำของเรา การพูดดี คนก็ดี สัตว์ก็ดีในโลกจะไม่เกิดความลำบากเดือดร้อนจากคำพูดของเราคนที่คิดดี คนและสัตว์ในโลกจะไม่เกิดความลำบากยากแค้นไม่มีอันตรายเพราะความคิดดีของเรา เราเองก็มีแต่ความสดชื่น คนอื่นเห็นเข้าก็มีการชื่นอกชื่นใจ อยากคบหาสมาคม ไปที่ไหนก็มีแต่มิตรเป็นที่รัก

ถ้าอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท คนที่คิดว่าจะต้องตายและเกรงว่าจะไปอบายภูมิต่างคนต่างทำดี ต่างคนต่างพูดดี ต่างคนต่างคิดดี อย่างนี้เจอะหน้าคนก็มีแต่ความเป็นมิตรไม่มีใครคิดเป็นศัตรูต่อกัน พูดก็พูดวาจาที่เป็นที่รักซึ่งกันและกัน การกระทำก็ไม่ขัดใจกัน ไม่ขัดขวางไม่มีการกลั่นแกล้งกัน ช่วยเหลือกัน ความคิดก็ไม่หมกมุ่นไปด้วยอารมณ์ที่เศร้าหมอง อย่างนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท รวมทั้งเพื่อนภิกษุสามเณรเห็นด้วยไหม ว่าก่อนจะตายหรือไม่ทันจะตายเราก็มีความสุขแล้ว ความสุขที่เกิดจากการเห็นหน้าและยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน ทุกคนก็มีแต่ความสดชื่น ถ้ามีการขัดข้องในทรัพย์สินหรือสิ่งของต่าง ๆ ต่างคนต่างยื่นโยนซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างนี้แหละบรรดาท่านภิกษุสามเณรทั้งหลายและญาติโยมพุทธบริษัทควรคิดใหม่ว่าเราจะต้องตาย ในเมื่อเราคิดว่าจะต้องตายแล้ว เราก็ตั้งใจว่าการตายของเราคราวนี้จะตายเมื่อไรก็ตามที จะตายระยะไหนก็ตามคิดว่าพร้อมที่จะตายวันนี้ก็ได้เสมอ เราก็ทำดีทุกจุด

ความดีอันดับแรกบรรดาท่านพุทธบริษัทจะทำอะไรดี จะทำอะไรเป็นจุดแรกดีก็ขอยืนยันยึดเอาสังโยชน์ข้อที่ ๒ ที่เราเรียกว่า "วิจิกิจฉา" ทำลายวิจิกิจฉาให้พ้นจากกำลังใจของเรา

คำว่า "วิจิกิจฉา" นี่แปลว่า "สงสัย" คือสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ มีพระอรหันต์ เป็นต้น สงสัยว่าพระพุทธเจ้านะมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง ๆ พระพุทธเจ้าน่ะดีไหม คำสอนของพระองค์ดีจริง ๆ หรือเปล่า นี่สงสัย สงสัยคำสอน นี่สงสัยพระธรรมเลย แล้วสงสัยว่าพระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี่มีหรือไม่มี หนัก ๆ เข้าก็เลยคิดว่าไม่มี เพราะตัวสงสัยว่าพระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็ไม่มี พระไตรปิฎกที่มีอยู่อ่านกันอยู่ ก็เป็นพระไตรปิฎกโกหกมดเท็จ ใครเขียนขึ้นมาก็ไม่รู้ก็เขียนแบบโกหกขึ้นมาว่าโลกนั้นมีโลกนี้มี ระลึกชาติไม่ได้ จิปาถะกันไป เลยสงสัยพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่เขาบอกว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์น่ะเป็นพระสงฆ์จริงๆ หรือว่าเป็นตัวเบียดเบียนประชาชน ทำให้สังคมมีความทุกข์ มีความเร่าร้อน เพราะพระไม่เห็นจะทำอะไรได้แต่บิณฑบาต แล้วก็กิน กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็บิณฑบาตแล้วก็บอกบุญบ้าง ขอบุญบ้างเรี่ยไรกันบ้าง จิปาถะ มีแต่พูดไปพูดมาแล้วก็พูดไป ไม่เห็นมีอะไรให้เกิดประโยชน์ นี่ไม่สงสัยนะเลยไม่เชื่อเสียเลย ลักษณะอย่างนี้เป็นสังโยชน์ ข้อที่ ๒ ที่ทำให้คนเราต้องลงอบายภูมิ ขอยืนยันว่าถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ต้องลงอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แน่นอน

ถ้าถามว่าคนที่เขามีความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้แล้วไม่ไปนรกมีไหม?

ก็ต้องตอบว่าไม่มี เว้นไว้แต่ว่าจะมีเวลาส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้แต่เป็นเวลามีความเชื่อมีความเลื่อมใสเข้ามาเพียงเล็กน้อย ตายปุ๊บปั๊บในขณะนั้นอาศัยที่จิตมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เป็นต้น แล้วก็ไปสวรรค์ชั่วคราว ใช้เวลาไม่นานก็ลงป๋อมลงนรกไป

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายสำหรับเบื้องต้นอันนี้ก็พูดกันมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะเวลาหมดแล้ว ก็ต้องขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแต่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...

-----------------

ลักษณะแห่งการหนีบาป



มาพูดถึงลักษณะแห่งการหนีบาปกันต่อไป แต่ขอย้ำไว้ก่อนว่าการที่จะหนีอบายภูมิทั้ง ๔ คือการไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อไปนั้น ต้องกำจัดสังโยชน์ คือ

อารมณ์ชั่ว ๓ ประการ ขอย้ำไว้ตอนนี้ก่อนตอนต้นจะได้ไม่เฝือ

๑. ที่มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ตายตัดทิ้งไป ให้มีความรู้สึกว่ามันจะต้องตายแน่และไม่ประมาทในชีวิต คิดทำความดีต่อไป

๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์หันมากลับมาปฏิบัติในศีลให้แน่นอนและจริงจัง ฆราวาสเพียงแค่ศีลห้า หรือว่ากรรมบถ ๑๐ ใช้ได้แล้ว สำหรับภิกษุสามเณรก็มีศีลของท่าน ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ทุกคน ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นใจได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ก็ตามที เราไม่ลงอบายภูมิกันแน่

๓. สีลัพพตปรามาส มีการปฏิบัติในศีลไม่แน่นอน ไม่จริงจัง อันนี้ต้องตัดทิ้งไปหันมาปฏิบัติในศีลให้แน่นอนและจริงจัง ฆราวาสเพียงแค่ศีลห้า หรือว่ากรรมบถ ๑๐ ใช้ได้แล้ว สำหรับภิกษุสามเณรก็มีศีลของท่าน ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ทุกคน ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นใจได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ก็ตามที เราไม่ลงอบายภูมิกันแน่

ที่หันมาพูดอย่างนี้ก็ย้ำไว้แต่ตนต้น เพราะว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนจะงง เพราะในตอนต่อไปนี้พูดเรื่องตายจำให้ได้ว่า ชาตินี้ทั้งชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่ประมาทเรื่องความตายของชีวิต และคนที่เกิดทีหลังเราเด็กเล็กตายก่อนเราไปเยอะแยะ เราต้องตายแน่ พยายามรวบรัดความดีเข้าไว้ บาปเก่า ๆ ที่ทำไว้แล้วช่างมัน มันจะไปไหนก็ช่างมันตามเราไม่ทันด้วยอาศัยเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ และปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ อย่าลืมว่าฆราวาสศีลห้า อาจจะหยาบไปนิดหนึ่ง แต่ก็พ้นอบายภูมิแล้ว ถ้าทางที่ดีได้กรรมบถ ๑๐ จะดีมาก เรื่องนี้รายละเอียดเป็นอย่างไรอ่านต่อไปข้างหน้า

สำหรับตอนนี้ก็มาขอต่อตอนต้นที่ผ่านมาก็คือ ตอนที่ ๑ ว่าในเมื่อเรานึกถึงความตายแล้วเราก็เข้ามาไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และความดีของพระอริยสงฆ์ ตอนนี้ก็มาว่าถึงความดีของพระพุทธเจ้าก่อน

พระพุทธเจ้ามีความดีเหลือหลาย อาตมาเองก็ไม่สามารถจะพรรณนาความดีของพระพุทธเจ้าให้ครบถ้วนได้ แต่ขืนพรรณนาไปมาก บรรดาท่านพุทธบริษัทก็จะเบื่อเอกันตอนต้นน้อย ๆ ก็แล้วกัน เพียงแค่เรายอมรับนับถือความจริงของท่าน ที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก พระองค์ไม่ได้หวังประโยชน์ความสุขส่วนตัวเลย คือว่าไม่หวังเฉพาะความสุขส่วนตัว ต้องการแจกจ่ายความสุขให้แก่บุคคลทั้งโลกตามที่พระองค์จะพึงทำได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยความเชื่อความเลื่อมใสในพระองค์ ถ้าขาดความเลื่อมใสพระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน เพราะคนที่ไม่เชื่อกันแล้วนี้พูดเท่าไรก็ไม่ยอมรับฟัง ฟังแล้วไม่ยอมเชื่อและก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม อย่างนี้ก็ไม่มีทางจะช่วยได้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อักขาตาโร ตถาคตา" ตถาคตาเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น บอกแล้วจะทำตามหรือไม่ทำตามเป็นหน้าที่ของท่าน ถ้าทุกคนทำตามได้ บุคคลผู้นั้นก็พ้นจากอบายภูมิได้ เอาแต่เบื้องต้นนะ ถ้าสามารถปฏิบัติตามได้พ้นได้แน่ นี่เราจะปฏิบัติตามท่าน จะเอาอย่างไรในตอนนี้เรายังไม่พูดถึงศีลก่อน เอาแต่ความดีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีกฎแห่งการสอนอยู่ว่า

๑. สัพพปาปัสสะ อะกะระณัง ให้บรรดาพระสงฆ์และพระองค์เองก็เช่นเดียวกัน พยายามสอนให้ทุกคนละจากความชั่วทุกประเภท คือไม่ทำความชั่วทุกประเภท ไม่ทำ ไม่พูด และก็ไม่คิดซะด้วย

๒. กุสลัสสูปสัมปทา แนะนำให้ทำความดีทุกประการ

๓. สจิตตะปริโยทะปะนัง แนะนำสั่งสอนให้มีจิตใจผ่องใส คือไม่มีอารมณ์มัวหมอง มีอารมณ์สดชื่นอยู่เสมอ

๔. เอตัง พุทธานะสาสะนัง ท่านยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด

มาตอนนี้ทุกท่านจะสงสัยไหม ก็ไม่ขอพูดให้มันเลอะ สงสัยหรือไม่สงสัยก็ช่าง เอาคนเข้านับถือพระพุทธเจ้าแบบย่อ ๆ เอาประเภทย่อ ๆ ที่ทำแบบง่ายที่สุด แล้วตายจากความเป็นคนก็ยังไม่มาเกิดเป็นคน และก็ไม่ลงนรก ไม่เกิดเป็นเทวดา เอากันอย่างย่อ ๆ ง่ายๆ นะ ยังไม่ต้องปฏิบัติตามมากเอาแค่นึกถึง แค่นึกถึงพระพุทธเจ้าเท่านี้ แล้วเขาผู้นั้นก็ตายจากความเป็นคนแล้วไม่ยอมลงนรกด้วย แล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก หลังจากนั้นเมื่อเป็นเทวดาแล้วได้พบพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ฟังเทศน์อีกครั้งเดียวย่อ ๆ สั้น ๆ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระโสดาบัน

นี่เป็นอันว่าปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นเข้าถึงครึ่งหลักสูตรนะ เข้ามานิดเดียวเท่านั้นนะ และใช้เวลาน้อยเหลือเกิน ใช้เวลาแค่นึกประเดี๋ยวเดียว นึกถึงพระพุทธเจ้า ตายจากความเป็นคนแล้วก็เป็นเทวดา เมื่อเป็นเทวดาแล้วฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าจบเดียวเป็นพระโสดาบัน

ที่มีนักเทศน์หรือคนบางคนพูดว่าการบำเพ็ญบารมีต้องอาศัยชาติมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหมบำเพ็ญบารมีต่อไม่ได้

อันนั้นไม่จริง เทวดาหรือพรหมที่เป็นพระอนาคามี ไม่มีใครกลับมาอีก บำเพ็ญตนให้เป็นพระอรหันต์ไปนิพพานเลย อย่างท่านที่พูดนี่ก็เช่นเดียวกัน เป็นมนุษย์ที่มีความดีนิดเดียวเวลาน้อยๆ เมื่อเป็นเทวดาแล้วฟังเทศน์อีกครั้งเดียว เป็นพระโสดาบัน นี่เขาต่อกันแบบนี้ เรื่องนี้มีมาในพระไตรปิฎก จะขอเล่าเรื่องสู่กันฟัง จะได้เบื่อน้อย ๆ พูดกันแต่ธรรมะนี่มันเบื่อนาน ยิ่งฟังยิ่งเบื่อ ยิ่งฟังยิ่งเบื่อธรรมะ มันไม่ค่อยจะซึ้งใจ ฟังไม่เพลิน

สำหรับท่านที่นึกถึงพระพุทธเจ้านิดเดียว ยอมรับนับถือชั่วขณะจิตเดียวคือไม่นานนัก ถ้าใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง ตายไปเป็นเทวดา ท่านผู้นี้มีมาในพระธรรมบท ท่านให้ชื่อว่า "มัฏฐกุณฑลีเทพ" ท่านผู้นี้เป็นลูกของพราหมณ์ ๆที่ไม่เคารพในพระพุทธเจ้า และก็เป็นพราหมณ์ชั้นพิเศษเสียด้วย ที่เรียกว่า "พิเศษ" ก็เพราะว่าแกไม่เคยให้อะไรใครเลยในชีวิต ชื่อว่า "อทินนกปุพพกพราหมณ์" พ่อของเขานะ "อทินนกะ" แปลว่า "ผู้ไม่เคยให้" "ปุพพกะ" "ในกาลก่อน" ในชีวิตกาลก่อนที่จะพบพระพุทธเจ้านี่เขาไม่เคยให้อะไรใครเลย จะพูดก่อนพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ จะต้องว่าก่อนที่พบลูกชายที่เป็นเทวดา ความจริงการพบพระพุทธเจ้านี่เขาพบกันมานาน ไม่เคยแม้แต่ยกมือไหว้ ไม่เคยมีความเคารพสักนิดหน่อย ตัวเองก็มีความรู้สึกว่าการเป็นเศรษฐีของตัว พระพุทธเจ้าไม่ได้หาทรัพย์สมบัติมาให้ พระอรหันต์ไม่ได้หาทรัพย์สมบัติมาให้ คนอื่นไม่ได้ให้ทรัพย์สมบัติ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หาไว้ให้ ในเมื่อคนอื่นไม่เกี่ยวข้องกับฐานะก็เลยไม่ยื่นโยนฐานะสงเคราะห์ใครต่อใครทั้งหมด ก็มีกินมีใช้แต่เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น พราหมณ์คนนี้จึงมีฉายาว่า "อทินนกปุพพกพราหมณ์" แปลว่า พราหมณ์ผู้ไม่เคยให้อะไรใครมาในกาลก่อนเลย

มาให้ตอนหลังที่พบลูกชายตายแล้วเป็นเทวดา นี่เขาให้กัน นี่ท่านที่เคยได้ฟังใครเขาพูดมา ว่าตายแล้วไม่มีการเกิด เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าทรงยืนยันและอาตมาเองก็ยืนยันด้วย ว่าการตายแล้วมีการเกิดแน่ ถ้าทำดีแม้แต่น้อยแต่ก่อนจะตายนึกถึงความดีเกิดเป็นเทวดาได้ ก็ขอยืนยันด้วยเหมือนกัน

ถ้าถามว่าเอาอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ ก็ต้องตอบว่าลูกศิษย์ลูกหาเป็นแสนเขาสามารถทำกันได้ แล้วระลึกชาติก็ได้ อตีตังสญาณ เหตุการณ์ในอดีตสามารถทำได้ อนาคตังสญาณ เหตุการณ์ข้างหน้าในอนาคตสามารถทำได้ ปุพเพนิวาสานนุสสติญาณ ระลึกชาติได้ เขาทำกันได้ ญาณนอกจากนี้เขาก็ทำกันได้หมด ทำกันได้เป็นแสน ๆ คนแล้ว กล้ายืนยันคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเดี๋ยวมันจะเลอะไป

ขอพูดต่อไปว่าพราหมณ์ผู้นี้ก็มีลูกชายอยู่หนึ่งคน ลูกชายคนนี้ตามบาลีก็ไม่ปรากฏชื่อชัด ไม่ได้บอกชื่อไว้ว่าชื่ออะไร ตัวแกเองจริง ๆ บางลีก็ไม่บอกชื่อ บอกแต่เพียงนิสัยว่าไม่ชอบให้อะไรใครเท่านั้น ต่อมาลูกชายป่วย เป็นหนุ่มแล้ว ลูกชายป่วย เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองนั้น เดินผ่านมาผ่านไป ตอนเช้าบิณฑบาตพระเดินผ่านมาผ่านไป จะไปไหนก็เชิญไป ฉันไม่นับถือนายเสียก็แล้วกัน รวมความพ่อลูกชายป่วย ได้ความรู้สึกของแก ว่าได้ลูกป่วยนี่ถ้าไปหาหมอมันก็เสียสตางค์ ถ้าจะไปซื้อยามันก็เสียเงิน เอ๊ะ...เงินกับสตางค์มันก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเวลานี้นะ ถ้าไม่ไปโรงพยาบาลดี ๆ นี่ ที่เขามีชื่อเสียงเข้าไปวันแรกเพียงวันเดียวก็เสียเงินเป็นหมื่น ลูกชายคงจะตาย ช๊อคตายแน่ในวันแรก แกไม่ยอมเสียเงินเสียทองแน่ ถึงเวลานั้นมีแพทย์แผนโบราณเยอะ เสียเงินไม่มาก แกก็ยังไม่ยอมเสีย เมื่อลูกชายป่วยหนักเข้าแกก็ไปถามหมอว่า

"อาการของลูกแบบนี้เป็นโรคผอมเหลือง กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาการอึดอัดอยู่เสมอ ฟัดหน้าเหวี่ยงหลังเป็นปกติ อยากจะทราบว่าอาการอย่างนี้จะใช้ยาอะไรหนอรักษาจึงจะหาย"

นี่ความขี้เหนียวของแกรักทรัพย์สินมากกว่ารักลูก ตามธรรมดาหมดเขาก็ต้องปิดบังความรู้ของเขาเป็นธรรมดา เพราะเขามีอาชีพหมอ ถ้าเราไปเป็นหมอแข่งกับเขาหมอก็หากินไม่ได้ เขาบอกยกกลางบ้านให้ คำว่า "ยากลางบ้าน" ไม่ใช่ยาในหลักสูตร คนนิยมใช้กันเองตามชาวบ้านสมัยนี้เขาใช้หมอตี๋ ความจริงหมอตี๋จะโทษว่าไม่ดีก็ไม่ได้ มีแพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาตมา ท่านยังไปซื้อยาหมอตี๋ ให้หมอตี๋จัดยาให้ ท่านก็กินตามนั้น ถามว่าหมอเป็นผู้ใหญ่ขนาดนี้ทำไมกินยาหมอตี๋ เพราะว่าเข้าไปหมอตี๋ไม่รู้ว่าคนนี้เป็นแพทย์ที่มีความสำคัญมาก ท่านไปบอกอาการท่านเป็นอาการอย่างนี้มียาอะไรขายบ้าง หมอตี๋ก็จัดยามาให้ ท่านดูแล้วไอ้ยานั้นมันตรงกับอาการของท่าน ตรงกับโรค ท่านก็เอามาบริโภคมันก็หาย

นี่จะหาว่าหมอตี๋ไม่สำคัญก็ไม่ได้นะ หมอตี่ซะอีก หมอตี่คือโตกว่าหมอตี๋ บางทีก็ให้ยาไม่ตรงกับโรคเหมือนกัน อันนี้ว่าไปว่ามาไม่ได้นินทาหมอนะ พูดตามความเป็นจริง
          ก็เป็นอันว่าเวลานั้นหมอก็บอกยากลางบ้าน เป็นยาสมุนไพร แกก็มาเก็บยาเอง ให้ลูกกินไอ้ยานี่กับถูกลูกจริง ๆ คือยานี่ถูกลูก ลูกกินแล้วก็ถูกยา แต่ไม่ตรงกับโรคไม่สามารถรักษาโรคได้ แต่คนกินถูกยา คือกินเข้าไปปากมันก็ชนยา คือยาถูกลูกแต่ยาไม่ถูกโรค หรือยาไม่สามารถกำจัดโรคได้ ก็ป่วยหนักลงไปทุกที ตาพราหมณ์ก็มานั่งคิดว่าเวลานี้ลูกของเราป่วยอยู่ในห้อง ห้องมีเครื่องประดับประดามาก เป็นเครื่องมีราคาแพงมาก ถ้าอาการไข้มันหนักมากขึ้นเมื่อไหร่ หนักไปกว่านี้ ญาติทั้งหลายรู้เข้าก็จะมีความห่วงใย เดี๋ยวคนนั้นก็จะมาเยี่ยม เดี่ยวคนนี้ก็จะมาเยี่ยม ไอ้การจะห้ามญาติเยี่ยมนี่มันก็เป็นการไม่ดี เมื่อเข้ามาเยี่ยมในห้องเห็นของมีค่ามากๆ ก็จะขอโน่นขอนี่เราก็จะเสียของเปล่าๆ อย่ากระนั้นเลย ชวนเมียช่วยกันอุ้มลูกชาย ลูกชายเดินไม่ไหวแล้ว ป่วยหนักมาก เอามานอนไว้ที่ระเบียงเรือนซึ่งไม่มีเครี่องประดับ แล้วก็เอายาประเภทนั้นให้ลูกกิน ลูกก็หนักขึ้นมาทุกที ในที่สุดชีวิตก็ใกล้จะหมด เรียกว่าใกล้เลิกหายใจจะตายกันแล้ว

ลูกชายเมื่อทุกทรมานมากจากโรคก็มานึกในใจว่า พ่อก็ดี แม่ก็ดี ทรัพย์มากมายมีอยู่ในฐานะมหาเศรษฐีก็ดี ของเหล่านี้ไม่เกิดประโยชน์กับเราเลย พ่อกับแม่ไม่มีความรักเราจริง เราป่วยพ่อจะหาหมอมารักษาพ่อก็กลัวเสียเงิน จะซื้อยาที่เขาปรุงดีแล้วพ่อก็กลัวเสียเงิน เอายาที่ไปเก็บเองจากป่ามาให้เรากินก็ไม่ถูกกับโรค อาการร่อแร่ทุกขเวทนาหนักอย่างนี้ ก็รวมความว่าพ่อก็ไม่ใช่ที่พึ่ง ทรัพย์สินทั้งหลายก็ไม่ใช่ที่พึ่ง เราไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร

คิดมาคิดไปก็ฟังข่าวเล่าลือ เขาลือว่าพระสมณโคดมบรมครูที่สอนคนทั่วๆ ไป ท่านมีอิทธิฤทธิ์ และท่านก็ใจดีมีความเมตตาไม่เลือกบุคคล จึงตั้งใจของตนว่าขอพระสมณโคดม
บรมครูมาโปรดข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด ขอให้ช่วยให้หายโรคเป็นปกติ ความจริงเขาไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้าในเรื่องอื่นเลย ในกาลก่อนนั้น แม้แต่ยกมือไหว้ก็ไม่มี พ่อสอนไม่ให้เขาไหว้ เธอก็นั่งนึกนอนนึก นั่งไม่ได้ นั่งไม่ได้แล้วได้แต่นอน นอนหายใจแรงก็ไม่ได้ เพราะไม่มีแรงจะหายใจ หายใจเบาๆ ขยับกายก็เกือบจะไม่ไหว ได้แต่กรอกหน้าไปกรอกหน้ามา พลิกซ้ายพลิกขวาก็แสนจะลำบาก นึกถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า คือพระพุทธเจ้า ว่าขอให้มาโปรดให้หายโรคนี้เสียทีเถิด มันเจ็บเหลือเกิน เวลานี้แรงก็ไม่มีแล้ว

ปรากฏว่าตอนเช้ามืด องค์สมเด็จพพระประทีปแก้วทรงใช้อำนาจพระพุทธญาณเห็นทุกขเวทนาลูกชายมหาเศรษฐี คืออทินนกปุพพกพราหมณ์ (ตอนนี้ยังไม่รู้จักชื่อเขาเหมือนกันว่าเขาชื่ออะไร บาลีไม่ได้บอก) ว่าเธอมีทุกข์ทรมานมากต้องการให้ตถาคตไปช่วยในตอนเช้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก้บพระอานนท์เสด็จเดินไปบิณฑบาทผ่านบ้านนั้นพอดี องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงเปล่งฉัพพรรณรังสีพุ่งไปให้เห็นคนเดียวคือเฉพาะลูกชายท่านเศรษฐี คืออทินนกปุพพกพราหมณ์ เวลานั้นหันหน้าเข้าข้างฝาแสงสว่างพุ่งเข้าตาเขาด้วยกำลังฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า เขาก็แปลกใจว่าแสงอะไรเข้าตาเขา พลิกกายกลับมาเห็นพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์กำลังเดินบิณฑบาต มือยกไหว้ไม่ไหวแล้ว แต่ใจยอมรับนับถือองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ตั้งใจว่าขอพระองค์ได้โปรดช่วยข้าพระพุทธเจ้าให้หายจากโรคเถิด พระพุทธเจ้าข้า แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงเหลียวไป ท่านก็เดินของท่านเรื่อยๆ ไป พระอานนท์ก็เดินตาม เขาก็นึกถึงพระพุทธเจ้าไปก็เป็นการพอดีใกล้เวลานั้นนึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้าไม่นาน เขาก็ต้องสิ้นลงปราณ คือตายจากความเป็นคน

การตายนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท มันตายเฉพาะร่ายกายเท่านั้น จิตใจหรือที่ปฏิบัติเขาเรียกว่า "อทิสสมานกาย" คือกายที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเนื้อ มันก็ออกจากร่างเนื้อนี้ไป ไอ้ร่างเนื้อนี้ก็หมดลมหายใจ หมดลมปราณทั้งหมด ธาตุไฟดับ ธาตุลมหมด เหลือแต่ธาาตุดินกับธาตุน้ำอยู่ด้วยกันสองนาย นานๆ เข้าธาตุดินก็ทนธาตุน้ำไม่ไหวน้ำละลายดินเน่าขึ้นมา เหม็นคลุ้ง แต่เนื้อแท้จริงๆ อทิสสมานกายคือกายของเขาจริงๆ ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีนามว่า "มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร"

คำว่า "มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร" นี่ท่านแปลว่า "เป็นเทพบุตรที่มีต่างหูเกลี้ยง" คือต่างหูไม่มีเครื่องประดับด้วยเพชร ตามธรรมดาเทวดานี่เขามีเครื่องประดับเป็นเพชรแพรวพราวเป็นระยับ คนนี้ทำบุญนิดเดียว ขอโทษเถอะ คำว่าทำบุญก็ถูกจะเรียกว่าทำก็ทำด้วยใจ ต้องนึกถึงบุญนิดเดียว คือนึกถึงพระพุทธเจ้า ตายแล้วเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก

หลังจากนั้นเขาก็มานั่งพิจารณา ว่าวิมานของเราเป็นวิมานทองคำ ทองคำทั้งหลัง ร่างกายเรามีเครื่องทิพย์ประดับ ร่างกายก็เป็นทิพย์ เขาก็ถอยหลังคิดว่าก่อนที่มาเกิดเป็นเทวดานี่เราอยู่ที่ไหน ความเป็นทิพย์ของกาย ความเป็นทิพย์ของใจ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เขาก็รู้ตัวทันทีว่าเราเป็นลูกชายของพราหมณ์ มีนามว่า "อทินนกปุพพกพราหมณ์" เป็นพราหมณ์ที่เป็นพาล คำว่า "พาล" แปลว่า "โง่" ไม่รู้จักทำความดีแม้แต่การให้ทาน พระพุทธเจ้ากับบรรดาพระสาวกหลายท่าน ท่านมา ท่านเดินผ่านบ้านเสมอๆ แม้แต่ยกมือไหว้ก็ไม่มี แต่สำหรับเรานี้มาเป็นเทวดาได้เพราะอาศัยความดีที่นึกถึงพระพุทธเจ้า คือใช้เวลานิดเดียว ยอมถวายความเคารพท่านจึงมาเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานก็วิมานทองคำ จะเปรียบเทียบกับบ้านเก่า ๆ ก็สู้กันไม่ได้เลย บ้านสู้ไม่ได้ ร่างกายก็เป็นร่างกายเป็นทิพย์ ดูร่างกายเก่าเวลานี้พ่อกำลังนำไปฝังไว้ในป่าช้า เมื่อฝังแล้วพ่อก็ยืนร้องไห้อยู่ใกล้หลุม บนบานศาลกล่าวขอให้ลูกชายลงมาเกิดมาเกิดเป็นลูกใหม่ เธอก็คิดในใจว่าพ่อของเราจอมโง่แสนโง่ จอมพาลแสนพาล เราจะต้องไปดัดสันดานพ่อให้รู้จักสร้างความดี

วันรุ่งขึ้น พอพราหมณ์ผู้เป็นพ่อของเธอนี้ไปยืนร้องไห้ใกล้หลุมฝังศพ และก็บนบานศาลกล่าวไหว้หน้าไหว้หลังตามแบบฉบับของพราหมณ์ ขอพระพรหมผู้เป็นเจ้าช่วยลูกชายมาเกิดเป็นลูกชายใหม่ เธอก็แปลงกายของเธอคล้ายคนเดิม แต่สวยกว่าเก่าไปยืนในป่าช้าใกล้ๆ กับพ่อเก่าของเธอ เธอก็ยืนร้องไห้

พราหมณ์เห็นชายคนนี้เข้าก็เข้าใจว่าเป็นลูกชาย เพราะคล้ายคลึงกันมาก แต่ไม่ถืงว่าไม่เป็นลูกชายจึงเดินเข้าไปใกล้แล้วก็แปลกใจว่าทำไม่หนอเราร้องไห้ถึงลูกชายของเราที่ตายไปแล้วต้องการให้กลับมาเกิด ชายหนุ่มคนนี้ยังหนุ่มอยู่ ยังไม่น่าจะมีเมียเหมือนเรา ไม่น่าจะมีลูก เธอมายืนร้องไห้เพราะอะไร จึงเดินเข้าไปใกล้ถามว่า

"โภ ปุริสะ ดูก่อนท่านผู้เจริญ (หรือบุรุษผู้เจริญ) เธอร้องไห้เพราะอะไร"

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็ถามพ่อว่า "ลุงร้องไห้เพราะอะไร"

เธอก็เล่าให้ฟังว่า ร้องไห้เพราะลูกชายตาย ลูกชายหน้าตาคล้ายเธอน่ะ รูปร่างทรวดทรงเหมือนกัน แต่เธอสวยกว่า ตายไปแล้วอยากให้กลับมาเกิดใหม่ เมื่อบอกแล้วก็ถามว่า "เธอร้องไห้เพราะอะไร"

ชายหนุ่มก็บอกว่า "ผมมีรถทองคำอยู่คันหนึ่ง มันสวยมากครับ แต่ไม่มีล้อ ที่ร้องไห้เพราะอยากได้ล้อ"

พราหมณ์ก็คิดว่าชายคนนี้เหมือนลูกชายของเรา เราต้องการเอาไว้เป็นลูกเป็นที่ระลึก อย่างน้อยที่สุดก็มีความรู้สึกว่ารักแทนลูกได้ ก็ถามว่า "เธอต้องการล้อเงินหรือล้อทอง หรือล้อแก้วมณี       ฉันจะหาให้ แต่ว่าต้องเป็นลูกฉันนะ"

มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรก็คิดว่าพ่อของเราเมื่อป่วย ขี้เหนียวแม้แต่ค่ายาก็ไม่ยอมซื้อ ค่าหมอไม่ยอมจ้าง เวลานี้จะให้เงินให้ทองให้แก้วมณีเป็นล้อรถราคาแพงกว่าตั้งมาก ทีก่อนไม่คิด จึงคิดดัดสันดาน ก็บอกว่า "ผมไม่ต้องการประเภทนั้นครับ เพราะรถของผมสวยมาก ต้องการดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์มาเป็นล้ออย่างละข้าง"

ตาพราหมณ์โมโหบอกว่า "ไอ้บ้า มันจะมีมาได้อย่างไร ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ใครต้องการมันไม่ได้หรอก มันอยู่สูงเกินไป"

มัฏกุณฑลีเทพบุตรก็ถามว่า "แล้วท่านต้องการลูกชายของท่าน เวลานี้ท่านทราบไหมว่าลูกชายอยู่ที่ไหน"

พราหมณ์บอกว่า "ไม่รู้"

เธอก็เปรียบเทียบว่า "การที่ผมต้องการสิ่งที่ผมเห็นกับที่ลุงต้องการสิ่งที่ลุงไม่เห็น อย่างไหนจะบ้ามากกว่ากัน"

พราหมณ์ยอมแพ้ ก็รวมความว่าในที่สุดมัฏฐกุณฑลเทพบุตรก็บอกให้พราหมณ์ทราบว่าเธอน่ะคือมัฏฐกุณฑลีลูกชาย เวลานี้ไปเกิดเป็นเทวดา เพราะอาศัยความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แนะนำให้พ่อไปพบพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วก็รับกลับไปที่วิมานของตน

พราหมณ์ออกจากที่นั้นแล้วไปบ้าน บอกให้เมียจัดอาหารเป็นพิเศษ วันนี้จะอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์กับพระสาวาที่ฉันที่บ้าน และไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถามว่า

"พระสมณโคดมอยากจะทราบว่าคนที่ไม่เคยถวายทาน ไม่เคยฟังเทศน์ ไม่เคยยกมือไหว้ท่าน นึกถึงท่านอย่างเดียวไปเกิดเป็นเทวดามีไหม"

พระพุทธเจ้าบอก "มีเยอะแยะไป ไม่ใช่นับหมื่นนับแสน นับเป็นโกฏิๆ" แล้วก็ถามว่า "เมื่อเช้าท่านได้พบแล้วใช้ใหม" หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงเรียกมัฎฐกุณฑลีเทพบุตรให้มาพร้อมวิมาน

เมื่อมัฎฐกุณฑลีมาแล้วก็ลงจากวิมานมาไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเทศน์โปรด พอเทศน์จบก็เป็นพระโสดาบัน

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลาจะหมดแล้วต้องรีบรวดรัดกันเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันว่าการนึกถึงพระพุทธเจ้า มีความเคารพพระพุทธเจ้านั้น อย่างน้อยที่สุดบรรดาท่านพุทธบริษัท แม้แต่เล็กน้อยอย่างมัฎฐกุณฑลีเทพบุตร เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ก็พ้นจากการเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาได้ หลังจากนั้นก็เป็นพระโสดาบัน ตัดบาปอกุศลทั้งหมด

บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต และญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายเวลานี้ก็หมดเวลาแล้วก็ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแต่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...

------------------

ปฏิบัติตนไม่ครบไปสวรรค์ได้ ไปนรกได้



การหนีบาป การปฏิบัติตนเพื่อการหนีบาปนี่ ว่าจะรอพุดให้จบ รอคำอธิบายให้จบ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็จะใช้เวลามากเกินไป จะรำคาญในการปฏิบัติ หรือการรับฟัง ขอนำเอาคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาพูดให้เข้าใจเสียก่อน องค์สมเด็จพระชินวร คือ พระพุทธเจ้า ได้ทรงแนะนะบรรดาท่านพุทธบริษัทไว้ว่า

"ถ้าต้องการจะให้พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะไม่ต้องเกิดในแดนนี้ทุกชาติไปจนกว่าจะเข้าถึงนิพพาน สมเด็จพระพิชิตมารได้ทรงให้ตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการ" คือ

๑. สักกายทิฏฐิ ให้มีความรู้สึกไว้เสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตายและก็ตั้งใจไว้ว่าการตายของเราคราวนี้ เราจะไม่ยอมลงอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระทศพลทรงแนะนำให้ยอมรับนับถือ คือหมดความสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และความดีของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ยอมรับนับถือด้วยความจริงใจด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เมื่อนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ตัดความสงสัยที่เรียกว่า วิจิกิจฉา ได้แล้ว

ข้อที่ ๓ ก็เป็น สีลัพพตปรามาส คือปฏิบัติในศีลให้ได้ครบถ้วนทุกประการด้วยความเต็มใจการปฏิบัติศีลห้าครบถ้วนสำหรับฆราวาส มีศีลห้าใช้ได้แน่นอน ถ้าจะทำคนให้ดีจริงๆก็มีกรรมบถ ๑๐ ด้วย ถ้ามีทั้งศีลห้ามีทั้งกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้จะมีความสุขอย่างยิ่งทั้ง ปัจจุบันและสัมปรายภพ ถ้าปฏิบัติตนได้อย่างนี้องค์สมเด็จพระมหามุนี คือพระพุทธเจ้าทรงยืนยันวาท่านทั้งหลาย เมื่อตายแล้วจากชาตินี้ก็ดีหรืออีกกี่ชาติก็ดี จะไม่พบกับคำว่าอบายภูมิเลย การเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี ไม่มีสำหรับท่าน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ไม่เกิดในแดนนั้น จะเวียนว่ายตายเกิดเฉพาะการเกิดเป็นคน เป็นเทวดาหรือพรหม เท่านั้น

ขอย้ำอีกนิดหนึ่งเผื่อว่าท่านทั้งหลายจะฟังไม่ถนัด คือการที่จะพ้นอบายภูมิทั้ง ๔ ได้คือ

๑. มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย ตั้งใจไว้ว่าก่อนจะตายจะปฏิบัติเพื่อเป็นการพ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ คือยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยความ
จริงใจและเต็มใจ ถ้าฆราวาสมีศีลห้าบริสุทธิ์ ใช้ได้ แต่ว่าจะให้ดีจริงๆ ต้องมีกรรมบถ ๑๐ อีกด้วยจะดีมาก จะเป็นคนที่มีความสุขหรือมีเสน่ห์มากในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ตายไปแล้วองค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงยืนยันว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ตามที่กล่าวมาแล้วไม่มีอีก

ตอนต้นนี้ขอย้ำให้บรรดาท่านพุทธบริษัททราบ เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องคอยพูดจบคอยพูดจบเรื่องนี่เรื่องมันมาก

ต่อไปนี้ก็มาพูดถึงบุคคลที่ปฏิบัติทำตนไม่ครบแต่บังเอิญไปสวรรค์ได้ไปนรก ได้ไปนรกใครไม่ชอบละมั๊ง เป็นอันว่าไปสวรรค์ได้ไปนรกได้ก็แล้วกัน แต่ว่าการกลับมาเกิดนั้นไม่แน่นอนบางทีไปเป็นเทวดาหรือพรหมแล้ว แต่กลับลงมา หมดบุญวาสนาบารมีจากเทวดาหรือพรหม ก็ไม่พักที่เทวดาหรือพรหม และไม่พักที่มนุษย์ เพราะอาศัยกรรมที่เป็นอกุศลในกาลก่อน ที่ทำมาในสมัยที่เป็นมนุษย์เป็นบาปอกุศลพาตนพุ่งหลาวลงอเวจีมหานรกไปบ้าง ลงนรกขุมอื่นบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง อย่างนี้ก็มี

ก็รวมความว่าถ้าทำตนไม่ครบถ้วนตามที่กล่าวมาแล้ว แต่เป็นความดีพอที่จะพาตนไปสวรรค์ได้ แต่ก็ไปได้แน่แต่ลงมาซิไม่แน่ ไม่ใช่จะค้างที่มนุษย์ อาจจะไปค้างที่นรกก็ได้ อสุรกายก็ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ได้ บางท่านลงมาเป็นมนุษย์ได้เหมือนกัน แต่กรรมชั่วเก่านำผลดลใจตนให้เกิดบาปอกุศล ตายจากความเป็นคนลงไปอเวจีมหานรก อันนี้ก็มีมาก

รวมความว่าถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะหนีนรกกันจริงๆ ก็ขอให้ปฏิบัติตนครบทั้ง ๓ ประการตามที่กล่าวมาแล้ว

ต่อไปนี้ก็ของดเรื่องที่จะพูดถึง "พุทธานุสสติ" ไว้ก่อน ต่อไปนี้จะขอนำเอาเรื่องเบาๆ ที่เป็น "อารมณ์ฟุ้ง" คือไม่ขาดศีล ๕ ไม่ขาดสรรณคมน์ คือไม่ทำลายพระพุทธเจ้า ไม่ติเตียนพระพุทธเจ้า ไม่คัดค้านพระธรรม ไม่ทำลายพระสงฆ์ และก็ไม่ได้ทำลายศีล แต่ว่ามีอารมณ์ฟุ้งทำตนให้เกิดในอบายภูมิ มีการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นสัตว์ใหญ่บ้าง เป็นสัตว์เล็กบ้าง เป็นต้น

สำหรับคนที่มีการปฏิบัติดีอย่างยิ่ง นี่ขอนำที่ไม่เกี่ยวกับศีล เดี๋ยวจะหาว่าคนที่ละเมิด คำสั่งสอนขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีศีลเสียอย่างจะต้องลงนรก หรือปรามาสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ลงนรกมันก็ไม่แน่เหมือนกัน ขอเอาเรื่องเบาๆ มา ที่ไม่เกี่ยวกับการปรามาสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับการทำลายศีล แต่ว่าลงนรก เอามาคุยสู่กันฟังก่อน เพื่อเป็นความรู้ของบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระชินวร ทั้งนี้ก็ต้องนำพระสูตรมาคุยกันดีไหม ลูกหลานตัวเล็กๆ ยิ้มแป้น บอกว่าดีครับ ดีเจ้าค่ะ ความจริงที่พูดนี่มีคนนั่งฟังอยู่ด้วยนะ และก็เลยบันทึกเสียงไว้ ให้มันพอกับเวลาที่จะฟังกันคือ ๓๐ นาที นิทานเรื่องนี้ ชาวบ้านเขาเรียกว่า "นิทาน" แต่ว่าทางพระพุทธศาสนาเขียนในบาลีเรียกว่า "พระสูตร" พระสูตรก็คือ นิทาน นิทานก็คือพระสูตร แต่นิทานในพระสูตรเป็นนิทานเรื่องจริงๆ ไม่ใช่นิทานเรื่องหลอกๆ ไม่ใช่โกหกมดเท็จ เอาเรื่องจริงมาพูดกัน

เนื้อความมีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เวลานั้นองค์สมเด็จพระบรมครูแสดงธรรมเทศนาสอนบรรดาท่านพุทธบริษัทให้พ้นจากความทุกข์ คนที่มีความเคารพพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังมากอย่างยิ่งคนหนึ่ง ความจริงมีหลายคน มีมาก แต่ท่านผู้นี้คณะนี้มีความเคารพในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจริงๆ หนึ่งในจำนวนที่มีคนดีหลายๆ คน นั่นคือ "พระเจ้าปัสเสนทิโกศล" กษัตริย์ของเมืองพาราณสี พระเจ้าปัสเสนทิโกศลองค์นี้มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาพระองค์กับภรรยาที่มีนามว่า "พระนางมัลลิกา" พระนางมัลลิกานี่ก็มีความเคารพอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนางมัลลิกานี่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติมีการปฏิบัติดีมาก ยากที่บุคคลอื่นพึงทำให้ คือว่าคำน้อยคำใหญ่ที่เป็นคำไม่ดีไม่เคยพูด การกระทำเล็กกระทำน้อยกระทำใหญ่ การกระทำไม่ดีทางกายไม่เคยทำ อารมณ์ใจของพระนางเต็มไปด้วยอารมณ์ของกุศล เคยถวาย อสทิสทาน กับองค์สมเด็จพระทศพล อสทิสทานนี้เป็นทานใหญ่ยิ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้า ๑ องค์ จะมีคนถวายอสทิสทานครั้งเดียวในชีวิต และคนที่จะถวายอสทิสทานได้นั้นต้องเป็นผู้หญิง ก็ได้แก่พระนางมัลลิกาเทวี พระนางมัลลิกาเทวีนี้มึคุณงามความดีอันประเสริฐ มีจริยานิ่มนวลเรียบร้อยมาก ไม่เคยทำความชั่วมาก่อน ก็เหมือนกับผ้าขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งผืน บังเอิญถ้าไปเปื้อนอะไรนิดหนึ่งจุดเด่นมันก็ปรากฏขึ้น

เรื่องราวก็มีอยู่ว่าในคืนหนึ่ง เวลานั้นเขายังไม่มีไฟฟ้า เขายังไม่มีไฟฟ้ากัน พระนางก็นอนกับพระเจ้าปเสนทิโกศล คือนอนกลางคืนก็ดับไฟ มันก็มืด ต่อมาพระนางปวดปัสสาวะ(ขอพูดภาษาชาวบ้าน ใช้ราชาศัพท์ก็ใช้กับเขาไม่ค่อยเป็น) พระนางจะไปถ่ายปัสสาวะ บังเอิญเท้าขวาของพระนางสะดุดพระบาท(คือเท้า) ของพระราชสวามีเข้า เพียงเท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พระนางเสียใจมาก คิดว่าตัวเองทำความชั่วมาก พระนางมีความเคารพพระราชสวามีคล้ายพระราชบิดา (อ้าว...ล่อราชาศัพท์เข้าเสียหน่อย) เรียกว่ามีความเคารพผัวเหมือนพ่อ เสียอกเสียใจแสดงอาการเศร้าโศก พระเจ้าปเสนทิโกศลก็สอบถามว่าเสียใจเรื่องอะไร ก็ปรากฏว่าพระนางเล่าให้ทราบ

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็บอกว่า "เรื่องนี้ไม่น่าจะหนักใจ ไม่มีอะไรเป็นความผิด ถ้าคิดว่ามีความผิดฉันก็อภัยให้ แต่ความจริงไม่มีอะไรเป็นความผิดเลย เพราะเจตนาไม่มี"
แต่ถึงกระไรก็ดีบรรดาท่านพุทธบริษัทผู้รับฟังและหนูน้อยที่นั่งฟังอยู่ โปรดทราบว่าพระนางมัลลิกาน่ะดีมาก เหมือนกับผ้าขาวบริสุทธิ์ทั้งผืน แต่บังเอิญมีคนเอาหมึกสีดำหรือสีแดงไปแต้มเข้านิดเดียว ผ้าน่ะสะอาดทั้งผืนหมึกแต้มนิดเดียวก็มีจดเด่นเห็นจุดเปื้อนขึ้นมา ไม่เหมือนกับผ้าที่มีความสกปรกโสโครก ถ้าหมึกไปแต้มนิดๆ หน่อยๆ มันจะมองไม่เห็นสีหมึกเพราะมันสกปรกอยู่แล้วเหมือนคนที่มีกายสกปรก วาจาสกปรก มีใจสกปรก ถ้าไปกระทบกระทั่งเท้านิดเดียวเท่านั้นจะไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด ดีไม่ดีซ่อมผัวซ้อมเมียเล่นโก้ๆ ยังมองไม่เห็นความผิด แต่ความจริงมันผิด ความจริงมันชั่ว แต่ความชั่วที่เขาทำเป็นปกติมันสูงกว่านั้น จึงมองไม่เห็นว่าผิด แต่พระนางมัลลิกามีจิตคิดไว้เสมอ จิตใจเศร้าหมอง
หน้าตาน่ะแช่มชื่นเมื่อพบพระราชสวามี แต่ว่าอยู่คนเดียวทุกทีพระนางก็มีการสลดใจ หนักใจ ร้อนใจ คิดว่าตัวทำความผิด

อย่างนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ต่อมาเมื่อวาระเข้ามาถึงพระนางทรงประชวรคือป่วยไข้ไม่สบาย เมื่อเวลาใกล้จะตายจิตก็ประหวัดคิดว่าเรานี่เลยเหลือเกิน เอาเท้าไปสะดุดพระราชสวามีเข้า เรามันชั่ว จิตใจเศร้าหมอง คือจิตใจนึกถึงตัว ว่าตัวเลวนิดเดียว นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท นี่ต้องจำ นางก็ตายจากความเป็นคน อาศัยความดีในด้านกุศล มีความเคารพบิดา มารดา พอใจในการให้ทาน มีความเคารพพระราชสวามีคล้ายบิดา ร่างกายของพระนางก็เป็นนางฟ้าทั้งตัว เครื่องประดับประดาก็เต็มยศ นางนี้ไปนรกก็ไม่ทราบว่าขุมไหนเหมือนกัน ไม่ทราบว่าบาลีบอกไว้ขุมไหน ตอนนี้มันนึกไม่ออกนี่ นั่งคุยกันนี่ไม่ได้เอาหนังสือมากาง นึกไม่ออกว่านรกขุมไหนตามบาลีหมวดนั้นท่านบอกว่า เอาเท้าที่สะดุดเท้าของพระราชสวามีไปแหย่ในนรกสิ้น ๗ วันมนุษย์ แต่ความจริงนรกแต่ละขุมวันเวลามากเหลือเกิน แต่นั่นแหย่แค่ ๗ วันของมนุษย์ นรกขุมที่มีอายุน้อยที่สุดอย่าง สัญชีพนรก ท่านบอกว่าต้องใช้เวลา ๙ ล้านปีของมนุษย์ จึงจะเท่ากับวันหนึ่งของเขา ฉะนั้นเอาเท้าเข้าไปแหย่ในไฟนรกแค่ ๗ วันมนุษย์ ถ้าในเมืองนรกก็จะรู้สึกว่าแหย่แป๊บเดียวแล้วยกขึ้นมาเท่านั้นเอง มันเร็วมาก เทียบเวลากัน แต่เวลาของเรานี่ปาเข้าไป ๗ วัน เพราะอาศัยที่จิตกลุ้มหรือเศร้าหมอง ไม่ได้ทำชั่วคิดว่าชั่ว ทำกำลังใจของตัวเองให้เศร้าหมอง คิดว่าเราเลว

เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะจำคำสั่งสอนขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสว่า หลักสูตรในพระพุทธศาสนา มี ๓ อย่าง

๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พระองค์ทรงแนะนำว่าทุกคนจงละจากความชั่วทุกประเภท ละทั้งกาย ละทั้งวาจา และละทั้งใจ

๒. กุสลัสสูปสัมปทา จงทำแต่ความดี คือกายก็ทำดี วาจาก็พูดี ทั้งจิตใจก็คิดดี

๓. สจิตตะปริโยทะปะนัง ทำจิตให้ผ่องในจากอารมณ์ที่เป็นกิเลส คืออารมณ์เศร้าหมอง ตัดอารมณ์ความข้องใจออกไปจากใจ นึกไว้แต่อารมณ์ของความดี

สมเด็จพระชินสีห์สอน ๓ ประการอย่างนี้ เป็นหลักสูตรในพระพุทธศาสนา ถ้าทำให้อย่างนี้จริง ๆ คำว่านรกเป็นต้น จะไม่พบกับท่านเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พระนางมัลลิกามีความประพฤติดีประพฤติชอบทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คือทำด้วยทางกาย พูดด้วยวาจา คิดด้วยใจ แต่ในที่สุดพอก่อนจะตายพระนางก็ทำจิตเศร้าหมอง มานึกถึงว่าตัวทำชั่ว ตัวทำผิด ทำผิดอย่างนี้จิตมันก็เศร้าหมอง นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทจึงต้องตกนรก คือเอาเท้านิดหนึ่งแค่ตาตุ่มไปแหย่ในนรกถึง ๗ วันมนุษย์

ทุกท่านที่รับฟัง อย่านึกว่า ๗ วันมันไม่ร้อนนะ หรือมันไม่หนัก ตามธรรมดาของเราใครเอาถ่านหรือธูปแดงๆ แหย่แป๊บเดียวเราก็สะดุ้ง หรือเอาถ่านของบุหรี่แหย่แป๊บเดียวเราก็สะดุ้ง ไม่ใช่สะดุ้งแล้วหายร้อนหายเจ็บ มันยังร้อนมันยังเจ็บต่อไป เมื่อเขาดึงเอาธูปหรือบุหรี่ออกไปแล้วฉันใด ทุกข์ทรมานของพระนางมัลลิกาแค่ ๗ วันไม่ใช่เล็กๆ

เมื่อพระนางมัลลิกามีความดีขนาดนั้น ครานั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ คือพระพุทธเจ้า ก็ประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ในเมืองของพระราชสวามี พระนางก็อยู่ที่นั่น

อันนี้อย่าลืมนะบรรดาท่านพุทธบริษัท ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น พระอรหันต์อยู่ตั้งเยอะ แต่บางคนก็จะมาด่า ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ช่วย พระอรหันต์จึงไม่ช่วย เขาทำบุญขนาดหนักหนามากกว่าบุคคลใดๆ คนอื่นใดไม่สามารถถวายอสทิสทานได้ แต่พระนางมัลลิกาทำได้ขนาดนี้ แล้วทำไมสมเด็จพระชินสีห์จึงไม่ช่วย อย่าย่องไปด่าพระพุทธเจ้าเข้า อย่าย่องไปประณามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอย่าย่องไปด่าพระอริยสงฆ์เข้า บาปจะหนัก แต่ด่าอาตมานี่คงไม่เป็นไร เพราะพระประเภทนี้ความดีมีน้อย แต่ความดีมีน้อยคนด่าถ้ามีโทษก็คงเป็นโทษน้อย จะน้อยก็ไม่น้อยก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็คิดว่าคงจะไม่มากเท่าพระอรหันต์

แล้วถ้าถามว่าท่าเป็นพระอะไร ก็ต้องตอบญาติโยมที่นั่งฟังโปรดทราบอาตมาขอตอบตรงๆ ตรงไปตรงมา ว่าเป็นพระที่บวชในพระพุทธศาสนา มีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มีมาในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แล้วก็มีความเคารพในศีลตามสมควร ความดีประเภทนี้พระพุทธเจ้าจะจัดไว้ประเภทไหนไม่ทราบ ก็คิดว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งให้เป็นพระโสดาบัน นี่พระพุทธเจ้าไม่มาตั้งให้เป็นพระโสดาบัน ก็คงไม่ได้เป็นพระสกิทาคามีหรือนาคามี หรือพระอรหันต์

ทีนี้การเป็นพระอริยเจ้าท่านตั้งกันหรือเปล่าอาตมาไม่ทราบ แต่เคยพบในพระบาลีว่าเมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์พอเทศน์จบได้ "ธรรมาภิสมัย" บ้าง ได้ "ดวงตาเห็นธรรม"
บ้าง คือเข้าใจในธรรม ถึงธรรม เป็นพระโสดาบันบ้าง สกิทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง พระอรหันต์ แล้วบาลีก็บอกว่าเวลาที่เทศน์จบคนบรรลุเท่าไร การบรรลุอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตั้งหรือเปล่าอาตมาก็ไม่ทราบ ก็ขอยืนยันว่าอาตมาเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา นี่คุยความดีเล็กๆ น้อย ๆกระจุ๋มกระจิ๋ม ไม่มาก เกือบมองไม่ค่อยเห็นเท่านั้น

แล้วก็อีกประการหนึ่งที่พอจะอวดท่านได้ นั่นคือเวลานี้ก็แก่มากแล้ว เรื่องความแก่ ถ้าถือเอาความแก่เป็นความดี ความดีประเภทนี้ก็ไม่ยอมถอย จะเพิ่มพูนความแก่ขึ้นทุกวัน ๆ จนกว่าจะตาย ญาติโยมทั้งหลายที่นั่งฟังก็ต่างคนต่างยิ้ม ยิ้มแล้ว อย่าไปนึกนะว่า อาตมาเป็นพระอริยเจ้าขั้นสูง ขั้นสูงขั้นต่ำอย่าไปคิด บางทีก็มีคนย่องๆ มาตั้งให้เหมือนกัน ก็ตกใจ ขอโทษเถอะอย่าตั้งกันเลยในความเป็นพระอริยเจ้า เรามาคุยกันในฐานะพี่น้องกันเองก็เหมือนกัน

เวลานี้ก็เหลือเวลาอีกเพียง ๓ นาทีเศษๆ ก็ขอคุยกับบรรดาญาติโยมที่เป็นสาวกของสมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ว่าขึ้นชื่อว่าอบายภูมิคือผลของความชั่ว ก็จงอย่าไปคิดถึงว่าเราจะต้องตกนรก เป็นต้น เพราะ

๑. การทำลายศีล

๒. ไม่เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ หรือการปรามาสพระพุทธเจ้า เท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นบาลีพุทธภาษิตว่า

"จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา"

ท่านกล่าวว่า บุคคลใดก่อนจะตาย ใกล้จะตายถ้าจิตใจเศร้าหมอง อารมณ์ไม่ผ่องใส คำว่า "เศร้าหมอง" นี่อารมณ์ไม่เกาะบุญ สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลไม่เกาะ คือไม่นึกยอมรับพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่นึกถึงทานการให้ ไม่นึกถึงศีลที่เคยรักษา ไม่นึกถึงเทศน์ที่เคยฟัง ถ้าอารมณ์ใจไม่คิดอย่างนี้ แล้วไปคิดเรื่องที่เป็นบาปเป็นอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างพระนางมัลลิกานี่ สิ่งที่คิดความจริงมันไม่ได้บาป คำว่า บาป นี่เขาแปลว่า ความชั่ว ถ้าแกล้งเอาเท้าไปเตะเท้าของพระราชสวามีนี่เธอชั่วแน่ แต่พระนางมัลลิกาไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนั้น ไม่ตั้งใจแล้วก็ไม่ได้ทำด้วย มันไปสะดุดเองเข้านิดหนึ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัท เพียงเท่านี้พระนางก็ต้องตกนรกเสีย ๗ วัน ตกนรกแค่ตาตุ่มหรือแค่ไหนก็ตามมันก็เป็นทุกข์

ก็รวมความว่าขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ระมัดระวังเรื่องจิตใจให้มาก ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ใช้ "อนุสสติ" คือ ตามนึกถึงความดี คือนึกยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ๑ ยอมรับนับถือพระธรรม ๑ ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์ ๑ นี่เรียกว่า เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ พยามยามนึกถึงความดีของเทวดา นึกถึงความตายที่จะเข้ามาถึง นึกถึงอารมณ์ของพระนิพพาน อย่างนี้เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ต้องครบทั้งหมด องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงสอนว่า ขึ้นชื่อว่าความชั่วที่ทำมาแล้วในกาลก่อน จงอย่าตามนึกถึงมัน นึกถึงความดีที่ทำไว้แล้วเท่านั้น ผลของความดีจะส่งผลให้เป็นสุข คือไปเกิดบนสวรรค์ได้

เวลานี้มองดูนาฬิกาเหลือเวลาไม่ถึงเสี้ยวของนาที สำหรับในตอนที่ ๓ นี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะเวลามันหมด ขอสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงมีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลและจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ หากทุกท่านพึงประสงค์สิ่งใด ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาจงทุกประการ สวัสดี...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น